รัฐประหาร พ.ศ 2557

กันยายน 19, 2561

หลังคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ ได้ชุมนุมยืดเยื้อข้ามปี เพื่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากรัฐบาลรักษาการ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 แต่ไม่ยอมลาออก แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐมนตรีพร้อมกับรัฐมนตรีอีก 9 คน จากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) โดยมิชอบก็ตาม แต่รัฐบาลรักษาการในขณะนั้นซึ่งเปรียบเสมือนรัฐบาลไร้หัว เพราะไม่มีนายกฯ
รักษาการแล้ว มีเพียงนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการรองนายกฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯ และรัฐมนตรีรักษาการที่เหลืออีกบางส่วน ก็ไม่ยอมลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งตามการเรียกร้องของผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส. ขณะที่ กปปส.ก็ถูกมือมืดลอบยิงระเบิดเอ็ม 79 และกราดยิงเอ็ม 16 เข้าใส่หลายครั้งหลายสถานที่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
       
       ส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกแถลงการณ์เตือนกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงว่า หากยังไม่หยุดใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ ทหารอาจจำเป็นต้องออกมาระงับเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งหลายฝ่ายเริ่มตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะทำรัฐประหารหรือไม่ ขณะที่ฟากวุฒิสภา มีแนวคิดเสนอนายกฯ และ ครม.คนกลางเพื่อให้เกิดการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยตัวแทนวุฒิสภาได้หารือกับนายนิวัฒน์ธำรง ในฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2557 เพื่อขอให้ลาออก เปิดทางให้มีนายกฯ และ ครม.คนกลาง แต่ไม่สำเร็จ เพราะรัฐมนตรีที่เหลือยืนยันไม่ลาออก ขณะที่วุฒิสภาเล็งเดินหน้าเสนอนายกฯ คนกลางต่อไป ท่ามกลางความไม่พอใจของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดย นปช.ขู่จะชุมนุม หากวุฒิสภาเสนอนายกฯ ตามมาตรา 7 ขณะที่กลุ่ม กปปส.สนับสนุนให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา เสนอนายกฯ คนกลาง แต่ กปปส.จะไม่รอวุฒิสภา โดยนัดชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23-25 พ.ค. หากไม่ชนะ จะสลายการชุมนุมและมอบตัวในวันที่ 27 พ.ค.
       
       ปรากฏว่า กลางดึกคืนเดียวกัน ล่วงเข้าวันที่ 20 พ.ค. เวลา 03.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎ
อัยการศึก พ.ศ. 2457 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีผู้ชุมนุมหลายกลุ่มทั่วประเทศ รวมทั้งกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ใช้อาวุธสงครามทำร้ายประชาชนผู้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มจะเกิดเหตุการณ์จลาจลอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่
       
       หลังประกาศกฎอัยการศึกได้ 1 วัน พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ได้เชิญตัวแทน 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองมาประชุมเพื่อหาทางออกประเทศที่สโมสรทหารบก ประกอบด้วย 1. ผู้แทนรัฐบาล 2. ผู้แทนวุฒิสภา 3. ผู้แทนพรรคเพื่อไทย 4. ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ 5. ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 6. ผู้แทน กปปส. และ 7. ผู้แทน นปช. อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่สามารถหาข้อสรุปได้ เนื่องจากแต่ละฝ่ายยังยืนอยู่ในจุดเดิมของตนเอง พล.อ.ประยุทธ์จึงให้การบ้าน 5 ข้อ ให้แต่ละฝ่ายกลับไปคิด ก่อนมาประชุมรอบสองในวันรุ่งขึ้น 
       

       แต่หลังประชุมรอบสองแล้วก็ยังหาจุดร่วมที่ตรงกันไม่ได้อีก เพราะแต่ละฝ่ายยังคงนำเสนอแนวทางในมุมมองของตัวเองเหมือนเดิม พล.อ.ประยุทธ์จึงถามนายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่มาประชุมในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาลว่า ตกลงรัฐบาลยืนยันไม่ลาออกใช่หรือไม่ ซึ่งนายชัยเกษม ตอบว่า นาทีนี้ไม่ลาออก พล.อ.ประยุทธ์จึงบอกว่า “ถ้างั้นตั้งแต่นาทีนี้ ผมตัดสินใจยึดอำนาจการปกครอง” 
       
       หลังจากนั้น ช่วงเย็นวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยบิ๊กเหล่าทัพ ประกอบด้วย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.),พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.สส.) และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้แถลงผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยให้เหตุผลที่ยึดอำนาจครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้เกิดความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์มีแนวโน้มขยายตัว จนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และประชาชนในชาติเกิดความรัก สามัคคี ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่นๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ
ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 เวลา 16.30 น.เป็นต้นไป
       
       หลัง คสช.นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศยึดอำนาจการปกครอง คสช.ได้ออกประกาศแต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช., พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองหัวหน้า คสช. และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นเลขาธิการ คสช.


ที่มา :http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=9580000058362
       

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น