การทำรัฐประหาร2476

กันยายน 19, 2561



“ประกาศของผู้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ
ด้วยคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน ณ บัดนี้ไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญโดยเริ่มต้นปิดสภาผู้แทนราษฎร แล้วงดใช้รัฐธรรมนูญ คณะทหารบก ทหารเรือ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ขอประกาศให้ราษฎรประชาชนทั้งหลายอย่ามีความตระหนกตกใจจงช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
คณะนี้ได้จัดการไปแล้วคือ ได้โทรเลขกราบบังคมทูลพระกรุณาไปยังพระราชวังไกลกังวล หัวหิน ตามนัยที่กล่าวมาแล้ว กับได้ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และได้แจ้งให้กระทรวง ทบวงการ ดำเนินราชการไปเช่นเคย ทั้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลรักษาความสงบเรียบร้อยทั่วไปแล้ว
วังปารุสกวัน วันที่ 20 มิถุนายน พุทธศักราช 2476
นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม เลขานุการฝ่ายทหารบก
นายนาวาโท หลวงศุภชลาศัย เลขานุการฝ่ายทหารเรือ”
ต้นเหตุอันนำไปสู่การปิดสภาของพระยามนโนปกรณ์ฯ มาจากความขัดแย้งภายในสภา หลังหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เสนอ “เค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ” ที่ให้รัฐออกพันธบัตรซื้อที่ดินทำกินทั้งหมด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีสภาพเป็นลูกจ้างของรัฐ ซึ่งถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบเดียวกับคอมมิวนิสต์ ดังพระบรมราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 7 ว่า
“โครงการนี้นั้นเป็นโครงการอันเดียวอย่างแน่นอนกับที่ประเทศรัสเซียใช้อยู่ ส่วนใครจะเอาอย่างใครนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ สตาลินจะเอาอย่างหลวงประดิษฐ์ฯ หรือหลวงประดิษฐ์ฯจะเอาอย่างสตาลินก็ตอบไม่ได้ ตอบได้ข้อเดียวว่าโครงการทั้ง 2 นี้ เหมือนกันหมด”
และในระหว่างการประชุมสภาวันที่ 31 มีนาคม 2475 พระยามโนปกรณ์และพระยาทรงสุรเดชได้อ้างเหตุว่าในการประชุมก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีสมาชิกบางรายพกอาวุธเข้าที่ประชุม จึงนำกำลังทหารประมาณหนึ่งกองร้อยเข้ามาควบคุมการประชุมของสภา ทำให้มีการโจมตีการใช้อำนาจอย่าง “เผด็จการ” ของพระยามโนปกรณ์
วันรุ่งขึ้น (1 เมษายน 2476 ซึ่งขณะนั้นถือเป็นวันขึ้นปีใหม่) รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ได้ออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เข้าลักษณะเป็นการ “รัฐประหาร” ประการหนึ่ง ทำให้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติมาขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี โดยอาศัยอำนาจของกษัตริย์ในรูปของพระราชกฤษฎีกา จนทำให้สื่อล้อเลียนว่าเป็นระบอบ “มโนเครซี่”

วันที่ 2 เมษายน รัฐบาลพระยามโนปกรณ์ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา บีบให้หลวงประดิษฐ์ฯ ต้องเดินทางไปต่างประเทศในวันที่ 12 เมษายน
ในช่วงนี้มีหนังสือพิมพ์หลายฉบับที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของพระยามโนปกรณ์ถูกสั่งปิดไปหลายสำนัก เช่น กรุงเทพฯวารศัพท์ ด้วยข้อหาเป็นเสี้ยนหนามต่อแผ่นดิน หลักเมือง ในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ ตามมาด้วย ประชาชาติ และไทยใหม่
ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช พระยาฤทธิอัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี โดยอ้างปัญหาสุขภาพ ก่อนที่ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯจะนำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ โดยอ้างว่ามีเหตุผลสำคัญเพื่อ “ให้เปิดสภาผู้แทนราษฎร” เท่านั้น (คำกราบบังคมทูล 20 มิถุนายน 2476 ลงนามโดย พระยาพหลฯ หลวงพิบูลย์สงคราม และหลวงศุภชลาศัย)

อ้างอิง ; https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_469

You Might Also Like

0 ความคิดเห็น